สกมช. ระดมประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “2024 1st ASEAN-Japan Cybersecurity Working Group Meeting” หวังสร้างการเรียนรู้ พร้อมยกระดับกำลังคนไซเบอร์

   ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงาน อาเซียน - ญี่ปุ่น ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 (2024 1st ASEAN - Japan Cybersecurity Working Group Meeting) กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมี สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมดังกล่าว ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตรจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส กรุงเทพมหานคร

   ศาสตรจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1973 และเมื่อปีที่แล้ว (2023) เป็นการฉลองความร่วมมือครบรอบ 50 ปี ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่นได้ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี ทำให้เกิดความมั่นคง การพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และมาพร้อมกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ความสงบเรียบร้อยของสังคม ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเสถียรภาพทางการเมือง ของประเทศต่าง ๆ ทั้งในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้น การสร้างความร่วมมือ ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และถือเป็น การเตรียมความพร้อมในการป้องกัน รับมือ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญ ทางสารสนเทศ และจําเป็นต้องพัฒนาความสามารถและทักษะในการตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงเป็นเหตุผลที่สําคัญมากในการสนับสนุนความร่วมมือและการทํางานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกของอาเซียน กับประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลและการยกระดับทักษะและความสามารถในการป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์”

   พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งศูนย์การอบรม ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre or AJCCBC ตั้งแต่ปี 2561 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญทางสารสนเทศในประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเป็นการสร้างความไว้ใจในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระหว่างประเทศสมาชิก โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดอบรมหลากหลายหลักสูตรตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตั้งแต่ปี 2561 ศูนย์ AJCCBC ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมกว่า 24 ครั้ง รวมไปถึงการจัดแข่งขัน Cyber SEA Games และกิจกรรมต่าง ๆ อีกมากมาย โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของศูนย์ AJCCBC มากกว่า 1,500 คน จนมาถึงปัจจุบันภายใต้การดูแลของ สกมช. ซึ่งได้รับการโอนย้ายภารกิจจาก ETDA ในการเป็นเจ้าภาพหลักเพื่อดำเนินงานพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศตั้งแต่ปี 2566 โดย สกมช. และ JICA ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือภายใต้โครงการ The ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre (AJCCBC) เพื่อร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมและเพิ่มขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ต่างๆ ทำให้สามารถดำเนินการฝึกอบรมให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จอย่างมากในการยกระดับทักษะทางไซเบอร์ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากประเทศสมาชิกอาเซียนมากว่า 200 คน สะท้อนความร่วมมืออันนี้ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ”

   สำหรับในปีนี้ ศูนย์ AJCCBC มีแผนที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยี ด้าน Cybersecurity เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร หรือ แคนนาดา เป็นต้น เพื่อนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาบุคลากรประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งยังมีแผนที่จะอบรมหลักสูตร OT Security เพื่อยกระดับการป้องกันและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในภาคอุตสาหกรรม โดย สกมช. ได้ร่วมจัดทำแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ของศูนย์ AJCCBC เพื่อให้เกิดผลลัพธ์อันจะนำไปสู่การยกระดับการเสริมสร้างศักยภาพ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต่อไปในระยะยาว

###