สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร และพระราชทานโล่รางวัล ประจำปี พ.ศ. 2566

   นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวว่า การคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ได้เริ่มมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2525 เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ดำเนินการโดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่สังคมและเยาวชนของชาติ และส่งเสริมสนับสนุนงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาจะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ พระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร และพระราชทานโล่รางวัล ในวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม 2566 เวลา 17.30 น. ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ จำนวน 225 ราย ประกอบด้วย

   1. รางวัลพระราชทานเสาเสมาธรรมจักร จำนวน 160 ราย ประกอบด้วย พระสงฆ์ 91 รูป ฆราวาส 60 ราย และหน่วยงาน 9 แห่ง

   2. รางวัลโล่พระราชทาน ประกอบด้วย นักเรียนผู้ชนะการประกวดสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัย ทำนองสรภัญญะ จำนวน 34 คน นักเรียนผู้ชนะการประกวดบรรยายธรรม จำนวน 24 คนและนักเรียนผู้ชนะการประกวดโอ้เอ้วิหารราย จำนวน 7 คน

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า พิธีพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร นอกจากจะเป็นการยกย่องผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจรรโลงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเข้มแข็ง ยังได้นำนักเรียนผู้ชนะการประกวดกิจกรรมดังกล่าว เข้ารับโล่พระราชทานฯ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เด็กเยาวชน เป็นคนเก่ง คนดี มีคุณธรรมจริยธรรม และเพื่อเสริมสร้างความรักชาติ ความสามัคคีในหมู่คณะ รวมถึงได้เรียนรู้หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ ในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 225 รูป/คน และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 – 2566 มีผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักรฯ จำนวนทั้งสิ้น 5,697 ราย ในจำนวน 10 ประเภท ซึ่งผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเหล่านี้ ยังคงเป็นพลังสำคัญ เป็นแบบอย่างที่ดีในการอุทิศตนทำความดีต่อสังคมและประเทศชาติ ร่วมกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรสืบไป

###