ดุริยางคศิลป์ ร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดลเปิดหลักสูตร MEI อัพสกิลนักดนตรีสายพันธุ์ใหม่ สู่การเป็นนักบริหารอย่างมืออาชีพ

   วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตร MEI (Music Entrepreneurship and Innovation) หลักสูตรปริญญาตรีดนตรี ควบปริญญาโท สาขาภาวะผู้ประกอบการและนวัตกรรมใช้เวลาเรียน 4 ปีครึ่ง ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย สิ่งสำคัญเติมเต็มประสิทธิภาพ พัฒนาทักษะสามารถดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าไปด้วยดีในอีกมิติหนึ่ง โดยจัดงานแถลงข่าวความร่วมมือ MOU เปิดหลักสูตร MEIที่ ริเวอร์ ซิตี้ กรุงเทพฯ

   ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดลกล่าวว่า เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนด้านดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ จึงร่วมกับ วิทยาลัยการจัดการ ออกแบบหลักสูตร เพื่อเพิ่มทักษะให้กับนักดนตรี ได้เรียนรู้การบริหารจัดการธุรกิจ

   “ส่วนใหญ่คนที่เก่งทางดนตรีก็อยากจะเล่นดนตรีอย่างเดียว หากได้เติมทักษะความรู้ทางธุรกิจเป็นอาวุธติดตัวเพิ่มขึ้น จะสร้างโอกาส ให้กับคนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ เติบโตได้อย่างถูกทางและแข็งแกร่ง สังเกตเห็นได้จากธุรกิจเพลงของเกาหลีที่ไปไกลระดับโลก นอกจากเจ้าของบริษัทจะเล่นดนตรีได้แล้ว ยังมีความรู้ในเชิงธุรกิจ เขาจึงรู้ว่าธุรกิจดนตรีจะไปในทิศทางใด”

   การเปิดหลักสูตรร่วมครั้งนี้  เป็นการรวมตัวของ 2 องค์กรที่มีมาตรฐานสูง โดย วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ได้รับรางวัล Top 50 จากการจัดอันดับ QS World University Rankings by Subject 2022ในขณะที่ วิทยาลัยการจัดการเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากAACSB (Association to Advance CollegiateSchools of Business) ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาด้านการจัดการบริหารธุรกิจทั่วโลกเพียง 5% ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้

   ทั้งนี้ หลังจากเปิดหลักสูตร ผ่านไป 5 ปี คาดว่าผู้ที่จบหลักสูตร MEI จะมีความเข้าใจทั้งด้านดนตรี และนวัตกรรมทางธุรกิจ มีความคิดสร้างสรรค์ในเชิงพาณิชย์ ที่ไปด้วยกันกับศิลปะทางดนตรีได้ช่วยพัฒนาธุรกิจส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพ  ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้ด้วย

   รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงแนวคิดหลักสูตร MEI ว่านักดนตรีมี Passion ในขณะที่วิทยาลัยการจัดการมีในส่วนของการออกแบบ การวางแผน กระบวนการต่างๆ โดยมีหลักการคือ เรียนแล้วทำได้เลย จึงเติมเต็มในส่วนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่มี Passionการที่จะเป็นนักดนตรีมืออาชีพ ถ้ามีทั้งPassion และ Professional จะสามารถทำได้ทุกอย่างและไปได้ไกลมาก

   “หลักสูตร MEIสอน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1.ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิชานวัตกรรมต่างๆ 2. การบริหารจัดการธุรกิจ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับ  Start up ซึ่งมี Exim Bank เป็นพาร์ทเนอร์มีการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากนักบริหาร "ตัวจริง"ในองค์กรระดับแนวหน้า การเรียนรู้การจัดการธุรกิจสร้างสรรค์ (Business Creativity and Design Thinking)  การปรับใช้ กลยุทธ์เชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริหารจัดการ สามารถสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายธุรกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

   ด้าน ดร.ตรียุทธ พรหมศิริ หัวหน้าสาขาภาวะผู้ประกอบการ และนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดลเสริมถึงเนื้อหาการเรียนการเรียนการสอนของหลักสูตรให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า เป็นการเรียนดนตรีของปริญญาตรีควบคู่ปริญญาโท

   “แนวทางที่วางไว้คือจะค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาของธุรกิจพื้นฐานในช่วงปี 1 เทอม 2 เกี่ยวกับเรื่องการจัดการ ทั้งการจัดการตัวเอง การจัดการภายนอก ภายใน  และจะเข้มข้นขึ้นตอนปี 2 ปี 3 ในสาขา Entrepreneurship and Innovation เป็นเรื่องของศาสตร์การทำธุรกิจ การนำนวัตกรรมมาใช้ ช่วงปี 4 ใกล้จบจะมีการทำสารนิพนธ์เหมือนปริญญาโทที่มีองค์ประกอบในเรื่องของดนตรี ธุรกิจรวมทั้งในส่วนที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งน่าจะเหมาะกับยุคปัจจุบันที่หลายคนอยากทำคอนเทนต์ หรือสร้างแพลตฟอร์มใหม่ด้านนวัตกรรม ทำ Marketplaceนักดนตรี เป็น Social Enterprise ที่ตอบโจทย์แก้ปัญหาสังคม ด้วยการนำดนตรีมาเป็นเครื่องจรรโลงจิตใจ ถือว่าเป็นหลักสูตรที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษา”

   สำหรับ คุณสมบัติในการศึกษาต่อหลักสูตร MEI คือผู้ที่จบมัธยมปลายที่มีความสนใจด้านดนตรี และต้องการเรียนการจัดการด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย ต้องผ่านการออดิชันทั้งจากวิทยาลัยดุริยางศิลป์และวิทยาลัยการจัดการโดยตั้งเป้าเปิดรับครั้งแรกไม่เกิน 30 คน จุดเด่นของหลักสูตร เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีควบคู่ปริญญาโท ทำให้ประหยัดเวลาจากการเรียนตามปกติได้ถึง 1 ปีครึ่ง รวมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นโอกาสในการทดลองค้นหาตัวเองอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิตได้

   ผู้ที่สนใจสนใจ สมัครเรียนได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มีนาคม2565 ศึกษาข้อมูล หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักสูตรได้ที่www.music.mahidol.ac.th

###