กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติร่วมกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปิดปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืน กับโครงการ “Grow Together!” ให้เยาวชนไทยทั่วประเทศ เติบโตเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพภายใต้มาตรฐานฟีฟ่า

   29 มิถุนายน 2565 : กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ร่วมกับ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(FA Thailand)จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Grow Together!ปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืน(The Revolution of Thai Football’s Ecosystem) ภายใต้การควบคุมมาตรฐานของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ(FIFA)ผ่านการวิจัยและประสานงานระหว่างฝ่ายพัฒนาเทคนิคของสมาคมฯณ ห้องไทย จิตรลดา แกรนด์บอลรูม โรงแรมแมริออท มาร์คีส์ ควีนปาร์ค กรุงเทพฯนับเป็นความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นแห่งแรก กับการจัดวางโครงสร้างการพัฒนานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนทั้งระบบโดยการสร้างและจัดเก็บฐานข้อมูล รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อการพัฒนาหลักสูตรการอบรมผู้ฝึกสอนอคาเดมีฟุตบอล ศักยภาพนักกีฬาและการจัดการแข่งขันลีกเยาวชนตลอดจนการทบทวนและวิเคราะห์เพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตร ภายใต้มาตรฐานเดียวกันที่จะส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เปรียบเสมือนระบบนิเวศของวงการฟุตบอลไทยที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งสามองค์กร

   ภายในงานได้รับเกียรติจาก พลเอกณัฐ อินทรเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองด้านการพัฒนากีฬาผู้แทน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ(NSDF)เป็นประธานในการเปิดตัวโครงการฯ ร่วมด้วย นายพาทิศ ศุภะพงษ์  เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.สุปราณีคุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติและ มร.เคลลี  ครอสส์ (Kelly Cross)ผู้แทนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ

   พลเอกณัฐ อินทรเจริญ ผู้แทนประธานกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติกล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการ“Grow Together! ปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืน”เกิดจากแนวคิดของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติซึ่งเล็งเห็นถึงปัญหาของเด็กไทยในวงการฟุตบอลที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนรวมถึงเด็กบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจนทำให้ต้องละทิ้งความฝันทั้งที่เด็กจำนวนมากมีศักยภาพ มีความสามารถที่จะต่อยอดและพัฒนาตัวเองไปจนถึงระดับทีมชาติหรือในระดับโลกได้ กองทุนฯ จึงเกิดแนวคิดในการสานต่อความฝันของเด็กไทยให้ประสบความสำเร็จและเกิดการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยด้วยมาตรฐานใหม่ที่ได้รับการรับรองจากองค์กรฟุตบอลระดับโลก

    กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการสร้างโครงการฯที่ได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยอาร์แซน แวงแกร์(Arsène Wenger) หัวหน้าแผนกพัฒนาฟุตบอลของฟีฟ่าและอดีตผู้จัดการทีมอาร์เซนอลมาใช้พัฒนาวงการฟุตบอลไทย ซึ่งแวงแกร์เริ่มออกแบบโปรแกรมจากแนวคิดที่ว่าฟุตบอลทุกชาติสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้และทุกชาติสามารถผลิตเด็กขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลที่มีคุณภาพได้เหมือนเป็น Ecosystem ซึ่งการทำ Ecosystem ในการเล่นฟุตบอลให้ถูกต้องจะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลได้โครงการ“Grow Together! จึงเป็นระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยสร้างนักฟุตบอลและสามารถพัฒนาศักยภาพเด็กให้เติบโตขึ้นเป็นนักฟุตบอลที่มีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จนทำให้ทีมชาติแต่ละชาติมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้”

   นายพาทิศ ศุภะพงษ์  เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า “การที่เด็กจากแต่ละสังกัดถูกส่งลงแข่งตามรายการต่างๆ ที่จัดขึ้นสำหรับเยาวชน เช่น การแข่งขันที่จัดโดยกรมพลศึกษา ฟุตบอลลีกระดับเยาวชน ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เด็กที่มีศักยภาพได้รับโอกาสในการลงแข่งขัน แต่สมาคมฯ ไม่สามารถเข้าถึงเด็กเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากไม่มีการเก็บข้อมูลนักกีฬาเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลกลางในการค้นหา จึงไม่มีข้อมูลในการติดตามตัวทำให้พลาดโอกาสสำคัญในการสร้างนักกีฬาเก่งๆ ให้กับวงการฟุตบอลไทย ซึ่งเป็นจุดด้อยที่วิเคราะห์ได้ว่าเกิดจากการที่ระบบ Ecosystem ของวงการฟุตบอลไทยยังไม่มีมาตรฐานที่เป็นแกนกลางในการสอน ทำให้ไม่มีระบบฐานข้อมูลกลางในการเก็บข้อมูลนักกีฬาส่งผลให้พลาดโอกาสในการดึงตัวนักกีฬาที่มีศักยภาพไปโดยไม่รู้ตัว

   สมาคมฯ จึงเริ่มแก้ปัญหาด้วยการสร้างหลักสูตร(THE CURRICULUM) สำหรับประเทศไทยขึ้นโดยความร่วมมือของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับวงการฟุตบอลไทยเช่นเดียวกับวงการฟุตบอลในประเทศที่พัฒนาแล้วที่จะมีเพียงหลักสูตรเดียวที่ใช้สอนเหมือนกันทั้งประเทศ เปรียบเสมือนปรัชญาของนักฟุตบอล และนำเสนอแผนงานเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมาปั้นเป็นโครงการ“Grow Together! ปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืน”ที่สมาคมฯ ร่วมกับฟีฟ่าสร้างขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลจากการวิจัยทางด้านประชากรศาสตร์ของแต่ละประเทศ จากสภาพแวดล้อม สังคม ลักษณะการเติบโต การอยู่อาศัย อาหาร แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์และออกแบบหลักสูตรเฉพาะของแต่ละชาติ ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ได้รับคัดเลือกว่ามีความพร้อมที่จะนำหลักสูตรนี้มาใช้ในวงการฟุตบอล”

   ด้านมร.เคลลี  ครอสส์ผู้แทนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ ฟีฟ่า (FIFA) กล่าวว่า “ก่อนการนำแนวความคิดที่จะมาสร้างโครงการ“Grow Together! ในประเทศไทย ทางฟีฟ่าได้ลงพื้นที่วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของวงการฟุตบอลไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ เป็นเวลาถึง 3 ปี เพื่อเฟ้นหาประเทศที่มีความพร้อมที่สุดแล้วสรุปออกมาเป็นรายงานในการสร้างแนวทางหลักสูตรระดับชาติ(National Curriculum) ของแต่ละประเทศจากการเข้ามาเก็บข้อมูลวิเคราะห์เส้นทางการเข้าสู่วงการฟุตบอลของเด็กไทย พบว่าเส้นทางการเริ่มต้นเข้าวงการฟุตบอลของเด็ก 1 คน แบ่งออกเป็นโรงเรียน การเล่นในทีมโรงเรียน, โรงเรียนกีฬา, อคาเดมีแบบไพรเวท เรียนเสริมเสาร์-อาทิตย์, อคาเดมีแบบคลับ ซึ่งจะมีแมวมองมักจะไปเจอเด็กที่สถานที่นี้และดึงมาเป็นเด็กฝึกในสังกัดต่อไป”

    ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติกล่าวว่า “ทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้จัดการประชุมหารือแสดงความคิดเห็นร่วมกันกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยและฟีฟ่าเพื่อกำหนดเป้าหมายและข้อตกลงที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสร้าง Ecosystem ที่เป็นปฐมบทใหม่เพื่อฟุตบอลไทยสู่ความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในวงการฟุตบอลไทย แก้ปัญหาการลื่นไหลในวงกว้างของวงการฟุตบอลเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนไทยที่มีศักยภาพได้มีโอกาสเติบโตในเส้นทางจนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติที่มีมาตรฐานอย่างมืออาชีพและพัฒนาหลักสูตรทุกปีเพื่อทำให้เกิดมาตรฐานในวงการฟุตบอลไทยที่ดีที่สุดและเสถียรที่สุด พร้อมนำวงการฟุตบอลไทยให้ก้าวไกลสู่มาตรฐานระดับโลก”

###